ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับครู จัดทำโดย นายณัฐณรงค์ โสสว่าง คบ.2 คอมพิวเตอร์ศึกษา รหัสนักศึกษา 534144008

ความหมายของการสื่อสาร/การสื่อความ​หมาย




ความหมายของการสื่อสาร

     การติดต่อสื่อสารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่มากับมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน โดยมนุษย์ใช้ภาษาเป็นสื่อในการส่งข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน โดยมีอากาศเป็นตัวกลาง ซึ่งในภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันนั้น จะต้องมีข้อตกลงกันว่าแต่ละสัญลักษณ์ หรือคำพูด แทนหรือหมายถึงสิ่งใด มนุษย์ได้คิดค้นวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การใช้สัญญาณควันไฟของชาวอินเดียแดง หรือการใช้ม้าเร็วในการส่งสาส์น จนกระทั่งพัฒนามาเป็นการใช้โทรเลข วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต
     ความหมายของการสื่อสารข้อมูล เกิดจากคำสองคำ คือ การสื่อสาร (Communication) ซึ่งหมายถึง การส่งเนื้อหาจากฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง และคำว่าข้อมูล (Data) หมายถึง ข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริงสำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ [17] ซึ่งในที่นี้เราจะหมายถึงข้อมูลที่เกิดขึ้นจากเครื่องคอมพิวเตอร์ในรูปตัวเลข 0 หรือ 1 ต่อเนื่องกันไป ซึ่งเป็นค่าที่เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าใจ นั่นคือ การสื่อสารข้อมูล หมายถึง การส่งเนื้อหาที่อยู่ในรูปตัวเลขฐานสองที่เกิดจากอุปกรณ์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 2 เครื่องขึ้นไป โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการติดต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนแบ่งปันการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด


การสื่อความหมาย
     การสื่อความหมายเป็นพฤติกรรมสำคัญที่สัตว์สังคมทุกชนิดใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อซึ่งกันและกัน แสดงถึงความเป็นหมู่เหล่าเผ่าพันธุ์เดียวกัน การสื่อความหมายมีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า Communis หรือ Commus แปลว่า คล้ายคลึง หรือ ร่วมกัน ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Communication การสื่อความหมายจึงเป็นกระบวนการส่งหรือถ่ายทอดความรู้ เนื้อหา สาระ ความรู้สึก นึกคิด ทัศนคติ ค่านิยม ทักษะ ตลอดจนประสบการณ์จากบุคคลฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "ผู้ส่ง" ไปยังบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ผู้รับ"  โครงสร้างและองค์ประกอบของกระบวนการสื่อความหมาย

กระบวนการสื่อความหมายจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ต้องประกอบด้วยโครงสร้างและองค์ประกอบดังนี้
     1. ผู้ส่ง (Source or Sender) คือ แหล่งกำเนิดสารหรือบุคคลที่มีเจตนาจะส่งสารไปยังผู้รับ
อาจเป็นคน สัตว์ องค์การ หรือหน่วยงาน
     2. สาร (Message) คือ เนื้อหา สาระ ความรู้สึก ทัศนคติ ทักษะ ประสบการณ์ ที่มีอยู่ในตัวผู้ส่ง
หรือแหล่งกำเนิด
     3. ช่องทาง (Channel) คือ ช่องทางต่าง ๆ ที่ใช้ในการรับรู้สาร ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยอาศัย
สื่อต่าง ๆ เป็นพาหะ เช่น รูป เสียง ความรู้สึกสัมผัส กลิ่น รส เป็นต้น
     4. ผู้รับ (Receiver) คือ บุคคล องค์การ หรือหน่วยงาน ที่รับรู้สารจากผู้ส่ง  เข้าสู่ตนเองโดยผ่านช่องทางและสื่อต่าง ๆ ในข้อ 3

การสื่อความหมายจำแนกได้หลายรูปแบบ ดังนี้
     1.  จำแนกตามลักษณะในการสื่อความหมาย แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
          1.1 ภาษาพูดหรือภาษาเขียน (Verbal Communication)
          1.2 ภาษาท่าทางหรือสัญญาณ (Non-Verbal Communication)
     2.  จำแนกตามตำแหน่งของผู้ส่งหรือผู้รับ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
          2.1 การสื่อความหมายทางตรง (Direct Communication)
          2.2 การสื่อความหมายทางอ้อม (Indirect Communication)
     3.  จำแนกตามพฤติกรรมในการโต้ตอบ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
          3.1 การสื่อความหมายทางเดียว (One-way Communication)
          3.2 การสื่อความหมายสองทาง (Two- way Communication)